ดอกเข้าพรรษา (ดอกหงส์เหิน)



 ดอกเข้าพรรษา
    เมื่อถึงเทศกาลเข้าพรรษาของแต่ละปี  จะมีดอกไม้ชนิดหนึ่ง  ออกดอกสีขาวเป็นช่อเล็กๆ    ถ้าดอกนั้นอยู่กับต้นก็จะดูธรรมดาไม่ค่อยน่าสนใจเท่าไร  แต่เมื่อมีคนคิดสร้างสรรนำดอกไม้นี้มาจัดรวมกันเป็นชั้นๆ คล้ายบายศรี ก็ดูสวยงามแปลกตา ไถ่ถามกันพึมพำว่า "ดอกอะไร" แปลกดี ดอกไม้ที่ว่านี้  เรียกกันว่า "หงส์เหิน" หรือ ดอกเข้าพรรษา  เพราะจะออกดอกในช่วงเข้าพรรษาพอดี คือ ระหว่าง พฤษภาคม -ตุลาคม  อาจจะมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปตามท้องถิ่น เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก)   กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน)  กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่)   ก้ามปู (พิษณุโลก)   ขมิ้นผี หรือกระทือลิง (ภาคกลาง)   ว่านดอกเหลือง (เลย)ดอกเข้าพรรษา (สระบุรี)  ที่เรียกว่า "หงส์เหิน" เพราะดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์กำลังจะบิน มีลีลาสง่างาม มีกลีบประดับเรียงตมามช่อดอกแหล่งกำเนิด "บ้านอะลาง"





ดอกเข้าพรรษา
ชื่อไทย             :  ดอกเข้าพรรษา หรือดอกหงส์เหิน
ชื่ออังกฤษ         :  Globba
ชื่อวิทยาศาสตร์  : Globba winitii C.H. Wright





ฤดูกาล : จะออกดอกในช่วงเข้าพรรษาพอดี  เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูฝน
 
ลักษณะโดยทั่วไป :  ดอกเข้าพรรษา จะมีลำต้นเป็นหัวแบบเหง้า มีรากสะสมอาหารคล้ายรากของกระชาย ส่วนของลำต้นเหนือดินกาบใบที่เรียงตัวกันแน่นสูง ใบเดี่ยว ยาวรี ปลายใบแหลม ดอกมีรูปร่างเรียว กลีบดอกเชื่อมติดกันส่วนใหญ่ดอกเข้าพรรษา ในหนึ่งปีนั้นจะออกดอกเพียงครั้งเดียว

ประโยชน์ :  ดอกเข้าพรรษาเป็นไม้กระถาง ใช้ประดับสวนหรือปลูกเป็นแปลง ส่วนใหญ่นิยมตัดดอกนำมาถวายพระ

หงส์เหิน (Globba  winiti)  เป็นไม้พื้นเมืองของไทยที่เกิดในป่าร้อนชื้น  ภายใต้ร่มเงาไม้ใหญ่  หรือขึ้นอยู่ตามชายป่า    ซึ่งในป่าเมืองไทยมีพืชสกุล Globba ขึ้นกระจายอยู่ทุกภาค อาจมีมากถึง 40 ชนิด จากการสำรวจพบว่า แถบภาคเหนือและภาคกลาง มีความหลากหลายของพันธุ์สูงกว่าภาคอื่นๆ  แต่ยังไม่มีการศึกษาทบทวนด้านอนุกรมวิธาน  สำหรับพื้นที่บริเวณภาคเหนือรายงานว่าพบ Globba  3 ช นิด  คือ G.nuda,  G.purpurascens  และG.reflexa  บริเวณป่าทิศตะวันออกดอยสุเทพ  นอกจากนี้  พบ G. reflexa  หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า  "ดอกคำน้อย"   ขึ้นตามทุ่งหญ้าที่ค่อนข้างชุ่มชื้น ในภาคเหนือ    ตั้งแต่ระดับความสูง 700 - 1,000 เมตร    สำหรับ G.nuda    พบในป่าผลัดใบ  สำหรับ G.pupurascens.  นี้จะสร้างหัวเล็กๆ (bulbil) ที่โคนกลีบเลี้ยงและราก  จะงอกในขณะที่อยู่บนช่อ  เมื่อหัวเล็กๆ นั้นโตเต็มที่ยังสำรวจพบ  G.clarkel, G.obscura, G.platystachya.  G.purpur-ascens  และ G.reflexa  ในเขตอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์อีกด้วย สำหรับ G.winitil   หรือหงส์เหิน เป็นพันธุ์ที่มีกลีบประดับขนาดใหญ่สีม่วงเข้มและยังมีพันธุ์ที่มีกลีบประดับสีขาว  ซึ่งได้มีการนำไปปลูกประดับแพร่หลายไปทั่วโลกแล้วลักษณะทางพฤกษศาสตร์
         

หงส์เหินเป็นพืชที่อยู่ในวงศ์  Zingiberaceae  และอยู่ใน Genus Globba

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ คือ
ต้น  :  หงส์เหินเป็นพืชที่มีลำต้นเป็นหัวใต้ดิน  ประเภทเหง้าแบบ Rhizome  มีรากสะสมอาหารลักษณะอวบน้ำคล้ายรากกระชาย  เรียงอยู่โดยรอบหัว  และส่วนของลำต้นเหนือดิน  คือ  กาบใบที่เรียงตัวกันแน่น  ทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน มักเกิดเป็นกลุ่มกอ  สูงประมาณ 30-70 ซม.

ใบ  :  เป็นใบเดี่ยวลักษณะเรียวยาว รูปใบหอกคล้ายใบกระชาย  แต่มีขนาดเล็กกว่าออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถวในระนาบเดียวกัน  ขนาดของใบกว้างประมาณ 10 x 25 ซม.

ดอก :  ดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม  ช่อจะโค้ง  และห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม     มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ  ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอก   สีเหลือง   สดใสแต่จะมีกลีบประดับ (bract)    ที่แตกต่างกันหลายรูปทรง  และหลายสีจาก globba   ที่รวบรวมไว้มี 2 ชนิด คือ G.winitil และ g.schomburgkil ซึ่งจะมีลักษณะของช่อดอกและกลีบประดับแตกต่างกันคือ

G.winitil : จะมีกลีบประดับขนาดใหญ่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบสวยงามตามช่อ โดยรอบจากโคนถึงปลาย  สีของกลีบประดับที่พบมีหลายสี
ได้แก่  สีขาว สีม่วง สีเขียว  และสีแดง  มีก้านดอกย่อยยาวชูดอกออกมาเห็นชัดเจน   ดอกจริงมีสีเหลืองลักษณะคล้ายรูปตัวหงส์ยืน  กำลังจะเหินบิน    มีลีลา
สง่างามทำให้ช่อดอกมีสีสันสวยงามมากขึ้น  ช่อดอกยาวประมาณ 10 - 20 ซม.

G.schomburgkil : จะมีใบประดับสีเขียวอ่อนไม่สะดุดตาแต่ให้ช่อดอกที่มีดอกจริงสีเหลืองสดใส จะเรียงตัวถี่ ลักษณะพิเศษของ Globba
ประเภทนี้ คือ ช่อดอกมักมีหัวเล็กๆ  ลักษณะคล้ายเมล็ดมะละกอสีเขียวอยู่ที่โคนกลีบเลี้ยง   และจะงอกราก ในขณะที่อยู่บนช่อเมื่อหัวเล็กๆ  นั้นโตเต็มที่  ซึ่ง
สามารถนำไปขยายพันธุ์เป็นต้นใหม่ได้  หงส์เหิน เป็นพันธุ์ไม้ที่เจริญเติบโตและออกดอกในช่วงฤดูฝน จากนั้นจะพักตัวในช่วงฤดูหนาวจนถึงฤดูร้อน ซึ่งต้น
เหนือดินจะยุบแห้งไปเหลือไว้เพียงหัวที่ฝังตัวอยู่ใต้ดิน  และจะงอกใหม่ในช่วงฤดูฝนต่อไป


การขยายพันธุ์ 
    การขยายพันธุ์หงส์เหิน สามารถทำได้ทั้งการแยกเหง้า และการเพาะเมล็ด แต่วิธีที่สะดวกรวดเร็ว และได้ผลดีคือ การแยกเหง้า  โดยการขุดเหง้าหรือหัวใต้ดินในระยะพักตัวคือ  ช่วงฤดูแล้ง   หลังจากต้นเหนือดินได้ยุบไปแล้ว    นำมาปลิดแยกเป็นหัวๆ ลงปลูกในแปลงโดยฝักลึก 5 ซม.    ใช้ระยะปลูก20 x 30ซม.   หงส์เหินไม่เหมาะกับการขยายพันธุ์โดยการแยกหน่อ   เพราะหน่อที่แยกมาปลูกจะชะงักการเจริญเติบโตไม่สามารถแตกกอให้ดอกได้


การดูแลรักษา 
หงส์เหินเป็นพืชที่ต้องการร่มรำไรแปลงปลูกกลางแจ้ง    ควรพรางแสงไม่น้อยกว่า 50%  แปลงปลูกควรคลุมด้วยฟางหรือหญ้าแห้ง   เพื่อรักษาความชื้นและความสะอาดสดใสของดอก

1. การใส่ปุ๋ย   ควรใช้ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยคอก อัตรา1 ตันต่อไร่  และปุ๋ย 15-15-15 อัตรา 50 กก./ไร่
    หว่านให้ทั่วแปลงช่วงแตกใบอ่อนปีละครั้ง
2. การให้น้ำ   หงส์เหินเป็นพืชที่ต้องการความชุ่มชื้น แต่ไม่แฉะ ถ้าอากาศแล้ง
    ควรให้น้ำอย่างน้อยวันละครั้งในช่วงเช้า
3. การตัดแต่ง  ในแปลงปลูกจากปีที่ 2 เป็นต้นไป  ประชากรในแปลงอาจมีความหนาแน่นทำให้เกิด
    โรคระบาด  ดอกมีขนาดเล็กไม่สมบูรณ์ ควรมีการตัดแต่งให้แปลงโปร่ง โดยตัดต้นไม่สมบูรณ์หรือตัดใบทิ้งบ้าง



โรคและแมลงศัตรู 
อาจพบโรคระบาดในแปลงที่มีอายุปลูกเกิน 3 ปี    ฉะนั้นควรมีการย้ายแปลงปลูก  หรือปลูกพืชหมุนเวียนในแปลงปลูก  หรือปลูกพืชหมุนเวียนใน  แปลงปลูกที่มีอายุเกิน 3 ปี  เพื่อหลีกเลี่ยงโรคระบาด  โรคที่สำคัญ ได้แก่

1. โรคหัวเน่า : เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ในแปลงปลูกที่มีสภาพชื้นแฉะ  และอากาศร้อนชื้น อาจเกิดการ
    ระบาดของโรคหัวเน่าได้
        1.1  อาการ   ต้นและใบเหี่ยวในขณะที่ยังเขียวอยู่ต้นและเหง้าใต้ดินเน่าและมีกลิ่นเหม็น
        1.2  การป้องกันกำจัด   แปลงปลูกไม่ควรให้น้ำขังหรือแฉะ ถ้าพบต้นเป็นโรคให้ถอนเผาไฟ
               Metalaxyl  (ริดโดมิล 25% wp)  หรือ Manco-zeb และพ่นทางใบให้ทั่วแปลงสัปดาห์ละครั้ง

2. โรคแอนแทรคโนส : เกิดจากเชื้อรา colletotrichum sp.  ระบาดมากในสภาพความชื้นสูง มีหมอก
     และน้ำค้างมาก อากาศถ่ายเทไม่สะดวก
          2.1 อาการ ที่ใบและกลีบประดับ เป็นปื้น หรือขีดสั้นๆ สีน้ำตาลหรือดำ ขอบแผลมีรอยช้ำคล้ายน้ำ
                ร้อนลวก แผลบุ๋มยุบตัวลงกว่าระดับผิวปกติ
          2.2 การป้องกันกำจัด ควรตัดแต่งแปลงให้โปร่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และฉีดพ่นสารเคมี
               Carbendazim (ไปซิม 50% wp) หรือ benom-yl (เบนเลท-โอดี) สัปดาห์ละครั้ง


3. แมลงที่สำคัญ 
    อาจพบหนอนหรือแมลง ศัตรูกัดกินกลีบประดับให้เสียหายอยู่บ้าง แต่ยังไม่พบการระบาดที่เสียหาย
    รุนแรง  แต่ควรมีการฉีดพ่นสารเคมีป้องกันไว้บ้างเช่น Carbaryl (เซฟวิน - 85 wp) 15 วัน/ ครั้ง



การเก็บเกี่ยว การตัดดอก 
การตัดดอกหงส์เหิน ควรพิจารณาดอกที่บานเต็มที่ แต่ไม่แก่เกินไป  คือ กลีบประดับบานถึงปลายช่อมีดอกจริงบาน 3-5 ดอกต่อช่อ มีสีสดไม่เหี่ยวโรย   โดยการใช้กรรไกรตัดต้นเหนือผิวดิน สูงประมาณ 2 นิ้ว  แต่งใบออกเหลือใบบนไว้ใบเดียว   รวมกันแล้วมัดเป็นกำๆ ละ 10 ดอก  นำก้านช่อดอกแช่น้ำ นำไว้ในที่ร่ม  รอการจำหน่ายหรือใช้ประโยชน์ต่อไป


การบรรจุหีบห่อ 
    ถ้าต้องส่งไปไกลๆ ควรนำดอกผึ่งในที่ร่มให้แห้ง  บรรจุในกล่องที่บุด้วยพลาสติกวางช่อดอกตามแนวนอน เรียงสลับหัวท้ายให้เป็นระเบียบพร้อมปิดฝาให้มิดชิด






งานวิจัย 
    สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอ  สถาบันวิจัยพืชสวน  กรมวิชาการเกษตร  มีแนวความคิดว่า ควรจะมีการพัฒนาไม้ดอกพื้นเมืองของไทย ซึ่งมีอยู่มากมาย สวยงามเป็นที่นิยมของต่างประเทศ  รองจากล้วยไม้ คือกลุ่มพืชสกุลขิง - ข่า ของไทย  เช่น กระเจียว ปทุมมา และหงส์เหิน นี้  ให้เป็นไม้ตัดดอก

เศรษฐกิจที่สำคัญเพิ่มขึ้น ประกอบกับหงส์เหินสามารถพัฒนาเป็นไม้กระถางได้ เพราะแตกหน่อดี ทำให้ได้จำนวนดอกมาก กอมาก (โดยเฉลี่ย 5-10 หน่อ/กอ)  นอกจากนี้หงส์เหินยังมีคุณสมบัติเป็นไม้ตัดดอกที่ดี  เพราะช่อดอกโค้งยาว  ก้านช่อดอกยาวพอเหมาะ มีอายุการปักแจกันนาน 1-3 สัปดาห์  หรือจะทำเป็นไม้ประดับโดยปลูกเป็นแปลงหรือปลูกใส่กระถางประดับก็ได้สถานีทดลองพืชสวนดอยมูเซอจึงได้มีการรวบรวมและศึกษาพันธุ์เพื่อพัฒนาเป็นไม้ตัดดอกเศรษฐกิจ  เมื่อเดือนกรกฎาคม 2544 ในการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ  ได้มีการนำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับหงส์เหินอยู่เรื่องหนึ่งคือ  "การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหงส์เหินพันธุ์ม่วงเตี้ย" ของคณาจารย์ สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล

ประกอบด้วย พิทักษ์ พุทธวรชัยพงศ์ยุทธ นวลบุญเรือง และอภิชาติ ชิดบุรี  โดยคณะผู้วิจัยได้ทดลองนำหน่อหงส์เหินพันธุ์ม่วงเตี้ย (G.Villosula Gagnap)  ที่โผล่พ้นดินยาวประมาณ 1 นิ้ว  แกะเอาส่วนกาบใบออกจนเหลือยอด  ที่มีขนาด 0.5 ซม.  นำไปเพาะเลี้ยงบนอาหารสูตรต่างๆ  พบว่าความสูงเฉลี่ยของต้นหงส์เหินจำนวนใบเฉลี่ย และจำนวนรากเฉลี่ยมีความแตกต่างกัน

หากการขยายพันธุ์หงส์เหินด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อประสบความสำเร็จ  ก็จะสามารถขยายพันธุ์หงส์เหินได้อย่างรวดเร็ว  ขึ้นและสามารถทำได้ตลอดปี  เป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนับสนุนการพัฒนาให้หงส์เหินเป็นไม้ตัดดอกเศรษฐกิจได้  นอกเหนือจากการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์   "บ้านอะลาง"