การปลูกถั่วเขียว




ถั่วเขียว
พฤกษศาสตร์ทั่วไป
วงศ์ (Family): Papilionaceae
จีนัส (Genus): Vigna
สปีชีส์ (Species): radiata
ชื่อสามัญ (Common name): ถั่วเขียวผิวมัน (mungbean, green gram) และ ถั่วเขียวผิวดำ (black gram)
ชื่อวิทยาศาสตร์ (Scientific name): ถั่วเขียวผิวมัน (Vigna radiata (L) Wilczek) และ ถั่วเขียวผิวดำ (Vigna mungo (L) Hepper)


ฤดูปลูก
ถั่วเขียวในประเทศไทยมีการปลูกกัน 3 ฤดู คือ
1. ต้นฤดูฝน : ปลูกในช่วงระหว่างเดือน พฤษภาคม-กรกฎาคม คิดเป็นผลผลิตประมาณร้อยละ 10
    ของผลผลิตทั้งปี เป็นการปลูกก่อนทำนาหรือพืชไร่อื่น

2. ต้นฤดูฝน : ปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน คิดเป็นผลผลิตประมาณร้อยละ 80 ของผลผลิตทั้งปี พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นที่ดอน เป็นการปลูกหลังเก็บเกี่ยวพืชไร่หลัก เช่น ข้าวโพด ผลผลิตที่ได้ค่อนข้างสูงและเมล็ดมีคุณภาพดี

3. ฤดูแล้ง : จะปลูกในเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ หลังจากเก็บเกี่ยวข้าวแล้ว โดยอาศัยความชื้นในดิน ถ้าเก็บเกี่ยวข้าวช้าความชื้นในดินเหลือน้อย ควรมีการให้น้ำ 1-2 ครั้ง ควรระวังเรื่องอุณหภูมิ เพราะถ้าอุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ถั่วเขียวจะชะงักการเจริญเติบโต ควรรอให้อุณหภูมิสูงกว่านี้จึงค่อยปลูก โดยเฉพาะภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือ ควรปลูกหลังจากอากาศหนาวหมดไปแล้วคือประมาณเดือนกุมภาพันธ์

หมายเหตุ : ถั่วเขียวผิวดำพันธุ์พิษณุโลก 2 เมื่อปลูกในฤดูแล้งจะให้ผลผลิตสูง ส่วนพันธุ์อู่ทอง 2 ปลูกในฤดูฝนจะให้ผลผลิตสูง



การปลูกและการดูแลรักษา
การเตรียมดิน
    การเตรียมดินควรทำการไถพรวนให้แตกร่วนละเอียดพอสมควร ก่อนปลูกควรตรวจดูเพื่อปรับสภาพของแปลงอย่าให้มีน้ำขังเพราะถ้ามีน้ำขังแล้วถั่วเขียวจะตายหรือไม่เจริญเท่าที่ควร อย่างไรก็ดีการปลูกถั่วเขียวในประเทศไทย ส่วนมากมีการเตรียมดินในระดับต่ำ ถือไถเพียงครั้งเดียว เมื่อหญ้าตายแล้วก็หว่านเมล็ดไถกลบลงไป ในนาข้าวอาจเผาตอซังเสียก่อน หว่านเมล็ดถั่วเขียวแล้วไถกลบเลย การปลูกเช่นนี้ทำให้ผลผลิตต่ำ  การปลูกในฤดูฝนในสภาพไร่ เตรียมดินโดยไถ 1 ครั้ง ลึก 20-30 เซนติเมตร ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหล ของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลง



การปลูกในฤดูแล้งในสภาพนา มี 2 วิธี
1. ปลูกโดยอาศัยน้ำชลประทาน ให้เตรียมดินปลูกเช่นเดียวกับในฤดูฝน
2. ปลูกโดยอาศัยความชื้นในดิน และไม่มีการให้น้ำชลประทาน ต้องเตรียมดินให้ละเอียด โดยไถดิน 1-2 ครั้ง หว่านเมล็ด แล้วพรวนกลบ



วิธีการปลูก
วิธีการปลูกนิยมปลูกกัน 3 วิธี
1. ปลูกโดยวิธีหว่าน
หว่านเมล็ดให้กระจายพอดี ถ้าห่างเกินไปได้ผลผลิตน้อย ถ้าถี่เกินไปนอกจากเปลืองเมล็ดพันธุ์แล้วก็ทำให้ได้ต้นเล็ก ในการหว่านนี้ใช้เมล็ดพันธุ์ 6-8 กิโลกรัม/ไร่ ข้อเสียของวิธีนี้คือยากแก่การดูแลรักษาและปราบวัชพืช ทั้งนี้เพราะถั่วเขียวขึ้นกระจัดกระจายไม่มีระเบียบ การปลูกวิธีนี้กสิกรอาจฉีดยาป้องกันวัชพืช เช่น อะลาคลอร์

2. ปลูกโดยวิธีหยอดหลุม
วิธีนี้คือการปลูกเป็นแถวนั่นเอง ให้มีระยะระหว่างแถวหลุม 50x20 เซนติเมตร หยอดหลุมละ 4-5 เมล็ด เมื่อถั่วเขียวงอกแล้วประมาณ 10 วัน ก็ถอนแยกให้เหลือ 2-3 ต้น/หลุม วิธีนี้ใช้เมล็ดราว 3 กิโลกรัม/ไร่ วิธีนี้มักใช้ในการทดลองเท่านั้น

3. ปลูกโดยวิธีโรยเป็นแถว
วิธีนี้อาจกาแถวปลูกให้ห่างกัน 40-50 เซนติเมตร ให้แถวที่กาลึก 5-7 นิ้ว แล้วนำเมล็ดไปหว่านในร่องที่กาไว้ ให้เมล็ดห่างกันราว 5-6 เซนติเมตร เมื่อถั่วเขียวงอกก็จะได้จำนวนต้นที่เหมาะสมวิธีนี้ใช้เมล็ดราว 5-6 กิโลกรัม/ไร่ วิธีนี้น่าจะแนะนำให้กสิกรใช้อย่างยิ่ง เพราะใช้เมล็ดน้อย ดูแลแปลง และกำจัดวัชพืชได้สะดวก


การคลุกเชื้อไรโซเบียม
เพื่อเพิ่มผลผลิตของถั่วเขียวก่อนปลูกควรคลุมเมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อไรโซเบียม โดยใช้เชื้อไรโซเบียมสำหรับถั่วเขียวในอัตรา 1 ถึง (200 กรัม) คลุมเมล็ดพันธุ์ 5-7 กิโลกรัม (สำหรับปลูกได้ 1 ไร่) โดยเคล้าเมล็ดถั่วเขียวด้วยน้ำหรือแป้งเปียกใส่ให้ทั่ว เทเชื้อไรโซเบียมลงคลุกกับเมล็ดพันธุ์ให้ทั่วถึงและสม่ำเสมอ แล้วนำไปปลูกทันทีและเมื่อ หยอดเมล็ดแล้วควรกลบดินทันทีเพื่อมิให้เชื้อไรโซเบียมถูกแดดเผาเพราะจะทำให้เชื้อตายได้


การดูแลรักษา
ในวันปลูกการฉีดสารเคมีป้องกันการงอกวัชพืช เช่น อะลาคลอร์ ซึ่งลงทุนเพียงไร่ละ 40-50 บาท ถ้าไม่มีการฉีดยาเพื่อป้องกันหรือปราบวัชพืช เมื่อถั่วเขียวอายุได้ราว 12-15วัน ก็ทำการพรวนดินเพื่อปราบวัชพืชครั้งแรก หลังจากนั้นราว 2 อาทิตย์ ก็ปราบวัชพืชครั้งที่ 2 เป็นครั้งสุดท้าย เพราะถั่วเขียวจะมีกิ่งใบแผ่คลุมแปลงป้องกันวัชพืชไปในตัว โดยทั่วไปแล้วกสิกรไม่กำจัดวัชพืช ถ้าถั่วเขียวเริ่มออกดอกไม่สมควรทำการเขตกรรมใด ๆ ทั้งสิ้น เราอาจสรุปการเจริญเติบโตของถั่วเขียวได้ดังนี้
1. ปลูกแล้วจะงอกภายใน 5 วัน
2. เริ่มออกดอกเมื่อมีอายุประมาณ 31-34 วัน
3. เริ่มมีฝักอ่อนเมื่อมีอายุ 35 วัน
4. ฝักเริ่มแก่เมื่อมีอายุ 55 วัน
5. ฝักแก่เริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 70 วัน พันธุ์ปัจจุบันนี้เก็บเกี่ยว 2 ครั้ง ครั้งสุดท้ายเมื่ออายุ 75-80 วัน



การให้น้ำ
1. การปลูกในฤดูแล้ง
โดยการให้น้ำชลประทาน ควรให้น้ำอย่างสม่ำเสมอทุก 10-14 วัน และหยุดให้น้ำเมื่อถั่วเขียวเจริญเติบโตถึงระยะฝักแรกเปลี่ยนเป็นสีดำ

2. การปลูกในฤดูฝน
หากมีฝนทิ้งช่วงเกิน 10-14 วัน ควรมีการให้น้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะออกดอกถึงระยะติดเมล็ด

3. การให้ปุ๋ย
ถ้าดินมีความเป็นกรดเป็นด่างต่ำกว่า 5.5 ให้หว่านปูนขาวหรือปูนมาร์ลหรือหินปูนบดอัตรา 100-200 กิโลกรัมต่อไร่ แล้วพรวนกลบก่อนปลูกประมาณ 10-15 วัน
ถ้าดินมีอินทรียวัตถุต่ำกว่า 1.5เปอร์เซ็นต์ หลังจากไถพรวนดินให้หว่านปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่ย่อยสลายแล้วอัตรา 500-1,000 กิโลกรัมต่อไร่  ถ้าในดินมีอินทรียวัตถุมากกว่า 1.5เปอร์เซ็นต์ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์มากกว่า 10 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้มากกว่า 60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ไม่จำเป็นต้องใส่ปุ๋ยเคมี  ถ้าในดินมีอินทรียวัตถุ ฟอสฟอรัสที่เป็นประโยชน์ และโพแทสเซียมที่แลกเปลี่ยนได้ต่ำ ให้ปุ๋ยเคมีสูตร 12-24-12 อัตรา 20-30 กิโลกรัมต่อไร่ รองก้นหลุมก่อนปลูก หรือโรยข้างแถวหลังถั่วเขียวงอก 10-15 วัน แล้วพรวนดินกลบ ในกรณีที่ปลูกแบบหว่าน ใส่ปุ๋ยแบบหว่านพร้อมกับการเตรียมดิน  ถ้าในดินขาดธาตุเหล็ก ส่วนใหญ่พบในดินด่างสีดำ เช่น ดินชุดตาคลี อาการที่พบคือ ใบยอดที่แตกออกมาใหม่มีสีเหลืองซีดแต่เส้นกลางใบยังคงมีสีเขียว ถ้าขาดรุนแรงใบเปลี่ยนเป็นสีเหลืองซีดจนเกือบขาว ต้นแคระแกร็น ผลผลิตลดลง หรือไม่ได้ผลผลิต ให้ใช้พันธุ์ทนทาน ได้แก่ พันธุ์ชัยนาท 36 และชัยนาท 72 หรือพ่นเหล็กซัลเฟต (ความเข้มข้น 0.5%) อัตรา 3 กิโลกรัม/ไร่ พ่นเมื่อต้นถั่วเขียวอายุ 20, 30 และ 40 วันหลังงอก




โรคและแมลง
โรคใบเหลือง (Mungbean yellow mosaic virus)
เชื้อสาเหตุ
เชื้อวิสา (Virus)
ลักษณะอาการ
ระยะแรกต้นที่เป็นโรคใบจะเป็นจุดสีเหลืองเล็ก ๆ กระจายอยู่ทั่วไปบนใบรวมที่ 4 ต่อมาอาการจะลามขึ้นไปสู่ใบยอด ทำให้ยอดที่แตกใหม่มีสีเหลือง ถั่วเขียวที่เป็นโรคจะแคระแกร็น ไม่ออกดอก และไม่ติดฝัก แต่ถ้าโรคนี้เกิดในระยะที่ติดฝักแล้ว ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองจัด มีขนาดเล็กสั้นผิดปกติและจะคดงอ ส่วนมากฝักจะงอขึ้นข้างบน


การแพร่ระบาด
โรคใบเหลืองสามารถถ่ายทอดได้โดยแมลงหวี่ขาว (Bemisiatabaci) ซึ่งสามารถถ่ายทอดเชื้อได้ในเวลาสั้นมาก

การป้องกันและกำจัด
1. ถอนต้นที่เป็นโรคเผาทิ้ง
2. ไม่ควรปลูกถั่วเขียวในแปลงที่เป็นโรคทันทีหลังการไถกลบแล้ว
โรคใบจุดสีน้ำตาล (Cercospora Leaf Spot)
โรคใบจุดสีน้ำตาล เป็นโรคที่พบระบาดทั่วไปทุกแห่งที่มีการปลูกถั่วเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งถั่วเขียวที่ปลูกในฤดูฝน ถั่วเขียวที่เป็นโรครุนแรง ฝักจะลีบ ขนาดของเมล็ดเล็กลง อาจทำให้ผลผลิตลดลงได้ถึง 40%


เชื้อสาเหตุ
เกิดจากเชื้อรา Cercospora canescens Ellis & Martin
ลักษณะอาการ
ใบถั่วเขียวที่เป็นโรคจะมีจุดแผลสีน้ำตาลค่อนข้างกลม ขอบแผลไม่เรียบ บริเวณตรงกลางแผลมีสีเทา ขนาดของแผลไม่แน่นอน โดยจะมีขนาดตั้งแต่ 1 มม. ถึงขนาดเกินกว่า 5 มม. รอบแผลอาจพบมีวงสีเหลืองล้อมรอบ ถ้าสภาพแวดล้อมเหมาะสม เชื้อราจะระบาดรวดเร็ว ทำให้ใบเป็นสีน้ำตาลแห้งร่วงหล่นก่อนกำหนด

การแพร่ระบาด
โรคใบจุดสีน้ำตาลแพร่ระบาดได้ดีในสภาพที่มีฝนตกชุก ความชื้นในอากาศสูง
การป้องกันและกำจัด
1.กรณีที่มีการระบาดของโรคอย่างรุนแรงในระยะถั่วเขียวออกดอก ถั่วติดฝักอ่อนอาจจำเป็นต้องฉีดพ่นสารเคมีพวก benomyl หรือ thiophanate-methyl จำนวนครั้งที่ฉีดพ่นขึ้นกับความรุนแรงของโรคโดยทิ้งช่วงห่างประมาณ 7-20 วัน

2. ถั่วเขียวพันธุ์กำแพงแสน 1 และพันธุ์กำแพงแสน 2 ต้านทานโรคนี้ดีกว่าพันธุ์อู่ทอง 1
การเก็บเกี่ยวและเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว




การเก็บเกี่ยวและการนวดถั่วเขียว
เมื่อถั่วเขียวแก่ฝักจะเปลี่ยนเป็นสีดำหรือขาวนวล ถ้าเป็นฤดูฝนจะต้องรีบเก็บฝักถั่วเขียวที่แก่นี้ทันที เพราะฝักถูกฝนเมล็ดจะบวม เวลาแห้งเหี่ยวจะไม่งาม จำหน่ายได้ราคาถูก ถ้าเป็นฤดูแล้งอาจจะทิ้งไว้ในแปลงรอเก็บเกี่ยวพร้อมกันได้ เพราะฝักแก่แล้วมีความเหนียวจะทำให้เก็บเกี่ยวได้หมดภายในไม่เกิน 2 ครั้ง ส่วนในการทยอยปลิดฝักต้องระวังไม่ให้ดอกถั่วเขียวที่จะเจริญเป็นฝักต่อไปติดมือมาด้วย แล้วนำถั่วเขียวที่เก็บได้ไปตากบนลานที่เตรียมไว้ อย่างไรก็ตามก่อนถึงระยะเก็บเกี่ยวฝักถั่วเขียวจะเริ่มแก่มีสิ่งพอที่จะสังเกตได้ดังนี้

1. ถั่วเขียวจะงอกต้นอ่อนมาหลังจากปลูกแล้ว 3-4 วัน
2. ถั่วเขียวจะเริ่มออกดอกเมื่ออายุประมาณ 28-30 วันนับจากวันงอก
3. ถั่วเขียวจะเริ่มมีฝักอ่อน ๆ เมื่ออายุประมาณ 36-40 วันนับจากวันงอก
4. ถั่วเขียวจะเริ่มมีฝักแก่เมื่ออายุประมาณ 56-65 วันนับจากวันงอก
5. เริ่มเก็บเกี่ยวฝักแก่ได้เมื่อมีอายุประมาณ 60-70 วันนับจากวันงอก


การปฏิบัติหลังการเก็บเกี่ยว
นำฝักถั่วเขียว ไปผึ่งแดดเพื่อให้ความชื้นฝักและเมล็ดลดลงเหลือประมาณ 11-13 เปอร์เซนต์
การกะเทาะฝักถั่วเขียว
1. บรรจุฝักในถุงหรือกระสอบ ใช้ไม้ทุบ
2. กองฝักถั่วเขียวสูงประมาณ 25 เซนติเมตร ใช้รถแทรคเตอร์เล็กที่ปล่อยลมยางรถให้อ่อนย่ำบนลานนวด ใช้ความเร็วรอบของเครื่องต่ำ เพื่อลดการแตกหักของเมล็ด
3. ใช้เครื่องกะเทาะฝัก ที่มีความเร็วรอบ 550 รอบต่อนาที
4. ทำความสะอาดเมล็ดด้วยวิธีร่อนและฝัด แล้วนำเมล็ดไปผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นหรือประมาณ 11-12 เปอร์เซ็นต์
5. บรรจุเมล็ดในกระสอบป่านที่สะอาด เพื่อเก็บรักษาหรือส่งจำหน่าย


การเก็บรักษา
1. โรงเก็บต้องเป็นอาคารโปร่ง อากาศถ่ายเทได้ดี ป้องกันความเปียกชื้นจากฝนและน้ำท่วมได้ ไม่มีแมลง หนู สัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์เลี้ยงเข้ารบกวน ถ้าเป็นพื้นซีเมนต์ให้หาวัสดุรองกระสอบป่าน เช่น ไม้ไผ่ หรือแคร่
2. ทำความสะอาดโรงเก็บ ก่อนนำเมล็ดเข้าเก็บรักษาทุกครั้ง และทำความสะอาดตลอดระยะเวลาที่เก็บรักษาอย่างสม่ำเสมอ


วัชพืชที่สำคัญและการป้องกันกำจัด
ชนิดวัชพืช แบ่งได้เป็น
1. วัชพืชฤดูเดียว เป็นวัชพืชที่ครบวงจรชีวิตภายในฤดูเดียว ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.1 ประเภทใบแคบ ได้แก่ หญ้านกสีชมพู หญ้าตีนนก หญ้าตีนกา และหญ้าดอกขาว เป็นต้น
1.2 ประเภทใบกว้าง ได้แก่ ผักยาง ผักโขม ปอวัชพืช ผักเบี้ยหิน สาบแร้งสาบกา ผักคราดหัวแหวน หญ้ากำมะหยี่ เทียนนา และกะเม็ง เป็นต้น

2. วัชพืชข้ามปี เป็นวัชพืชที่ส่วนมากขยายพันธุ์ด้วยต้น ราก เหง้า หัว และไหลได้ดีกว่าการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ด แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ
2.1 ประเภทใบแคบ เช่น หญ้าแพรก หญ้าตีนติด และหญ้าชันกาด เป็นต้น
2.2 ประเภทใบกว้าง เช่น ไมยราบเครือ สาบเสือ และตดหมูตดหมา เป็นต้น
2.3 ประเภทกก เช่น แห้วหมู และกกดอกตุ้ม


การป้องกันกำจัด
1. ไถดิน 1 ครั้ง ตากดิน 7-10 วัน พรวน 1 ครั้ง แล้วคราดเก็บเศษซาก ราก เหง้า หัว และไหลของวัชพืชข้ามปีออกจากแปลงก่อนปลูกถั่วเขียว
2. กำจัดวัชพืชโดยใช้แรงงานหรือเครื่องจักรกล เมื่อถั่วเขียวอายุ 15-20 วัน หรือก่อนถั่วเขียวออกดอก
3. คลุมดินด้วยเศษซากวัชพืชหรือฟางข้าวทันทีหลังปลูก
4. ในกรณีที่การป้องกันกำจัดวัชพืชด้วยวิธีดังกล่าวข้างต้นไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ อาจเลือกใช้วิธีพ่นสารกำจัดวัชพืช ตามคำแนะนำในตาราง



ประโยชน์ของถั่วเขียว

ถั่วเขียว เป็นพืชตระกูลถั่ว ที่ให้เมล็ดที่มีเปลือกสีเขียว แต่ เนื้อเมล็ดสีเหลือง ถั่วเขียวเป็นพืชที่มีอายุสั้น หรือวงจรชีวิตของถั่วเขียวมันสั้น จึงใช้น้ำน้อยกว่าพืชไร่อื่นหลายชนิด และงอกได้เร็ว สามารถใช้ในระบบปลูกพืช เช่น ทดแทนข้าวนาปรัง ปลูกก่อนข้าวโพดในพื้นที่ประสพภัยแล้ง ใช้ปลูกก่อนหรือหลังการทำนาหรือทำไร่ เพื่อตัดวงจรการระบาดของศัตรูพืช ช่วย บำรุงรักษาความอุดมสมบูรณ์ของดิน ตรึงไนโตรเจนได้ดี สามารถใช้เป็นปุ๋ยพืชสดให้ปริมาณไนโตรเจนสูง ถั่วเขียวใช้เป็นวัตถุดิบ ในการผลิตแป้งวุ้นเส้น เพาะถั่วงอก และประกอบอาหารอื่นๆ ถั่วเขียวมีสองชนิด ได้แก่ ถั่วเขียวผิวมัน และถั่วเขียวผิวดำ


สรรพคุณ
เมล็ดถั่วเขียวดิบ
-คุณค่าทางโภชนาการต่อ 100 ก. (3.5 ออนซ์)
-พลังงาน 350 kcal   1450 kJ
-คาร์โบไฮเดรต    62.62 g
- น้ำตาล 6.60 g
- เส้นใย 16.3 g
-ไขมัน 1.15 g
-โปรตีน 23.86 g
-วิตามินซี 4.8 mg 8%
-แคลเซียม 132 mg 13%
-แมกนีเซียม 189 mg 51%
-ฟอสฟอรัส 367 mg 52%
-โพแทสเซียม 1246 mg   27%
-โซเดียม 15 mg 1%